ถ้าให้อธิบายง่าย ๆ ก็ต้องบอกว่า BA.4 และ BA.5 เป็นพี่น้องกับโควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.1 และ BA.2 คือนับเป็นโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่กลายพันธุ์เพิ่มขึ้นมา และปัจจุบัน BA.4 และ BA.5 ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่ต้องจับตาดู (Variant of Concern lineages under monitoring : VOC-LUM) เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ทั้งนี้ BA.4 และ BA.5 มีลักษณะเด่นที่ต่างไปจาก BA.2 ดังนี้
-
มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันกับที่พบการกลายพันธ์ในสายพันธุ์เดลตา
-
มีความสามารถในการแพร่เชื้อได้เร็วกว่า
-
ดื้อต่อภูมิคุ้มกันของมนุษย์มากขึ้น
-
ดื้อต่อยารักษาโรคมากขึ้น
อาการโอมิครอน BA.4 และ BA.5 จากข้อมูลปัจจุบันยังไม่ต่างไปจากโอมิครอนสายพันธุ์อื่น ๆ มากนัก หลัก ๆ คือ มักมีไข้ เจ็บคอ ไอ น้ำมูกไหล ฯลฯ
ทั้งนี้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ได้เผยข้อมูลอาการของผู้ติดเชื้อโอมิครอน BA.1, BA.4 และ BA.5 ที่เก็บข้อมูลโดยหน่วยงานสาธารณสุขของฝรั่งเศส พบว่า โดยรวมแล้วผู้ป่วยที่ติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 มีอาการชัดกว่าผู้ป่วยที่ติดโอมิครอนรุ่นแรก ซึ่งอาการที่พบมากกว่า 50% เรียงตามลำดับ คือ
-
อ่อนเพลีย เมื่อยล้า
-
ไอ
-
เป็นไข้
-
ปวดศีรษะ
-
น้ำมูกไหล
นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มอาการทางเดินหายใจ เช่น หายใจถี่ และหายใจลำบาก รวมไปถึงกลุ่มอาการทางเดินอาหาร เช่น อาการท้องเสีย ในผู้ป่วยกลุ่ม BA.4 และ BA.5 ได้มากกว่าสายพันธุ์โอมิครอนดั้งเดิม
อย่างที่ทราบว่าสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดี อีกทั้งกลายพันธุ์ในตำแหน่งเดียวกันกับสายพันธุ์เดลตา จึงทำให้คนหวั่นวิตกอยู่บ้างว่าหากติดเชื้อขึ้นมาจะมีอาการรุนแรง หรือเชื้อลงปอดเหมือนกับเดลตาหรือไม่
เกี่ยวกับประเด็นนี้ ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า จากผลวิจัยทางห้องปฏิบัติการพบว่า เชื้อ BA.4 และ BA.5 สามารถทำลายปอดและมีอาการปอดอักเสบได้ง่ายขึ้น แต่ข้อมูลทางคลินิกยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะบอกความรุนแรงของโรคได้ชัดเจน จึงอย่าเพิ่งตื่นตระหนกและกังวลจนเกินไป
สอดคล้องกับ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ประเด็นที่น่ากังวลใจของเชื้อ BA.4 และ BA.5 คือการกลายพันธุ์ในยีนโปรตีนหนาม ตำแหน่ง L452R ที่ทำให้เชื้อติดเซลล์ในร่างกายมนุษย์ได้ง่ายกว่าเดิม อาจติดเชื้อที่เนื้อเยื่อปอดได้มากขึ้น และการทดลองในหนูแฮมสเตอร์ก็พบว่า BA.4 และ BA.5 สามารถทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานในมนุษย์ ทั้งนี้จากข้อมูลที่มี ณ ปัจจุบัน ก็ยังไม่มีตัวบ่งชี้ว่าโควิด BA.4 และ BA.5 จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดที่รุนแรงและทำให้มีผู้เสียชีวิตมาก
ส่วนทางด้าน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก็แสดงความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่า สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 มีการแบ่งตัวเร็วกว่า และเกาะเซลล์ปอดได้มากกว่า BA.2 แต่ยังไม่ต้องเทียบกับเดลตา และขณะนี้ก็ไม่มีหลักฐานว่า BA.4 และ BA.5 ทำให้ป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาล หรือมีอาการรุนแรงจนเสียชีวิต
ในการระบาดรอบนี้ นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านสาธารณสุข ต่างเฝ้าระวังสายพันธุ์ย่อย BA.5 มากกว่า BA.4 ด้วยความที่โควิดสายพันธุ์โอมิครอน BA.5 มีแนวโน้มที่ไม่ธรรมดา และอาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักในอนาคต โดยมีความเห็นที่น่าสนใจดังนี้
คนที่ติดโควิด 19 มาก่อนหน้านี้แล้ว แม้จะมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ แต่ก็ยังติดโควิด BA.4 และ BA.5 ได้อีกนะคะ เพราะสายพันธุ์นี้ดื้อต่อภูมิคุ้มกันร่างกาย และหลบภูมิได้เก่ง ภูมิที่มีอยู่เดิมจึงอาจไม่เพียงพอจะป้องกันการติดเชื้อซ้ำได้ โดยเฉพาะในคนที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือรับวัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม ก็จะเป็นกลุ่มที่ติดเชื้อได้ง่ายหรือมีโอกาสเป็นโควิดซ้ำได้มากกว่ากลุ่มที่ได้วัคซีนครบ
ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเพิ่มเป็นเข็มที่ 4 เพราะมีข้อมูลในต่างประเทศ พบว่า ผู้ป่วยสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ถ้าได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นจะมีอาการน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด เท่ากับว่าวัคซีนยังได้ผลในการป้องกันอาการหนักและเสียชีวิต
สอดคล้องกับข้อมูลจากทาง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่โพสต์เฟซบุ๊กแฟนเพจว่า ลักษณะของโควิด 19 มีแนวโน้มจะคล้ายไข้หวัดใหญ่ ที่มีการกลายพันธุ์หลบหลีกภูมิคุ้มกันได้เรื่อย ๆ ทำให้เราต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิกันทุกปี