แม้ว่ากัญชาจะมีประโยชน์ในการรักษาโรคได้จริง ๆ แต่เฉพาะบางส่วนเท่านั้น และต้องใช้อย่างระมัดระวัง
กัญชา ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์มานานแล้ว แต่คนส่วนใหญ่อาจยังไม่ทราบรายละเอียดว่า ส่วนประกอบไหนของกัญชาที่สามารถนำมาใช้รักษาโรคได้ รวมถึงการใช้อย่างถูกวิธีเพื่อไม่ให้เกิดโทษ หรือผลข้างเคียงต่อร่างกาย เนื่องจากกัญชายังถูกมองว่าเป็นยาเสพติดได้เช่นกัน
สารใน “กัญชา” ที่ใช้ในทางการแพทย์
ผศ. นพ. สหภูมิ ศรีสุมะ ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี และภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า สารสกัดจากกัญชามี 2 ชนิดหลัก คือ THC และ CBD พืชกัญชาส่วนใหญ่มี THC สูงกว่า CBD สามารถสกัดแยกด้วยกระบวนการในห้องปฏิบัติการเท่านั้น นอกจากนี้ยังย้ำอีกว่า การใช้กัญชาเองโดยไม่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแล และคำแนะนำของแพทย์ เสี่ยงเกิดโทษต่อร่างกายมากกว่าเป็นผลดี
สาร THC (Tetrahydrocannabinol)
สารสกัดจากกัญชาชนิด THC สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ดังนี้
-
ลดอาการคลื่นไส้จากยาเคมีบำบัดมะเร็ง
-
ลดอาการปวดเรื้อรัง
-
ลดอาการเบื่ออาหาร เฉพาะในผู้ป่วยบางกลุ่ม ภายใต้การดูแลของแพทย์
-
ลดอาการเกร็ง ในผู้ป่วยโรคระบบประสาทจำเพาะบางชนิด (Multiple Sclerosis)
โทษของสาร THC
หากมีการนำสาร THC จากกัญชามาใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่ระมัดระวังในการใช้ อาจทำให้เกิดโทษต่อร่างกายได้ ดังนี้
-
เมา หลอนประสาท
-
เสพติด และอาจเพิ่มอัตราการฆ่าตัวตาย
-
เพิ่มอุบัติเหตุ
-
หากได้รับในปริมาณสูง อาจเกิดภาวะเป็นพิษ และอาการผิดปกติได้
สาร CBD (Cannabidiol)
สารสกัดจาดกัญชาชนิด CBD ช่วยรักษาโรคลมชักในเด็ก เฉพาะกลุ่มอาการ Lennox-Gastaut, Dravet
สรรพคุณจากกัญชา ที่ยังไม่ได้ข้อสรุปแน่ชัด
หลายสรรพคุณจากกัญชาที่ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ และยังไม่ควรใช้ในปัจจุบัน เพราะยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย ได้แก่
-
ลดความกังวล
-
ควบคุมอาการสั่น ในผู้ป่วยพาร์กินสัน
-
สมองเสื่อม
-
ต้อหิน
-
อาจจะรักษามะเร็งได้
กล่าวโดยสรุป พืช และผลิตภัณฑ์จากกัญชาแต่ละชนิด มีปริมาณสารแตกต่างกัน การนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ เพื่อรักษาโรค หรืออาการบางอย่าง ต้องควบคุมให้พืชที่นำมาใช้มีมาตรฐาน มีปริมาณสารคงที่ ไม่มีสาร THC สูงจนเกินไป ไม่มีสารปนเปื้อน และยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดถึงผลของกัญชาต่อการรักษาในอีกหลายโรค ควรพิจารณา และขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนเลือกใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคทุกครั้ง
|